เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวและกีฬา เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมี นายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา,นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว,ดร. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.),พลตำรวจโท ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว,นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน,ดร. นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา,นายวิษณุ ไล่ชะพิษ ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ และสื่อมวลชน ร่วมงาน ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายของ กก. จะต้องทำทั้งด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้ท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ให้ได้ 3.5 ล้านล้านบาทต่อปี และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ด้านการท่องเที่ยว (TOURISM HUB) โดยการท่องเที่ยวจะต้องเกื้อกูลต่อการกีฬา พร้อมทำให้ทั้งการกีฬาเกื้อกูลการท่องเที่ยว และผลักดันให้ประสบความสำเร็จด้านกีฬา ตลอดจนการปลูกจิตสำนึกของประชาชนในการออกกำลังกาย ด้านการท่องเที่ยวจะต้องผลักดันอย่างครบวงจรบูรณาการทุกฝ่าย การที่นักท่องเที่ยวจะตัดสินใจไป ท่องเที่ยวที่ใดนั้น ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวและบริการมีความสำคัญ จะต้องมีการปรับปรุงและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวและบริการ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออย่างเหมาะสมเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติตัดสินใจมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย จะต้องปรับการบริการอย่างครบวงจร ตั้งแต่จำนวนเที่ยวบิน ค่าโดยสาร ระบบการเข้าเมือง ความสะดวกสบาย การบริการที่สนามบิน และแหล่งท่องเที่ยวตลอดจนการคมนาคม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากโจทย์ที่จะต้องดำเนินการ คือ การหารายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 3.5 ล้านล้านบาท ต่อปี ซึ่งขณะนี้เวลาล่วงมาแล้ว 4 เดือน ยังมีเป้าหมายที่จะต้องทำอีกมาก
โดย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มอบนโยบายเร่งด่วน ด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย การส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วง LOw SEASON ระหว่างเดือน พฤษภาคม – กันยายน เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รับความเดือดร้อน จะต้องมีการส่งเสริมการตลาดเชิงรุกไปยังกลุ่มประเทศที่ได้รับ VISA FREE ให้มีการทำ PACKAGE ที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การตรวจสุขภาพ งานแต่งงาน การท่องเที่ยวของกลุ่ม LGBTC+ (กลุ่มข้ามเพศ) กลุ่มความเชื่อมูเตลู กลุ่มแฟนคลับของ IDOL ไทย / เกาหลี หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่พำนักในประเทศไทยและมีค่าใช้จ่ายต่อหัวมากขึ้น, วันหยุดยาวของประเทศจีน หรือ GOLDEN WEEK ช่วงวันที่ 1 – 7 ตุลาคม จะต้อง คิด CAMPAIGN หรือ EVENT ใหม่ ๆ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวชาวจีน, ในช่วง HIGH SEASON ระหว่างเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ จะต้องคิด CAMPAIGN หรือ EVENT ใหม่ ๆ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก ซึ่งหนีหนาวมาเที่ยวเมืองไทย เนื่องจาก นักท่องเที่ยวจะวางแผนการท่องเที่ยวตั้งแต่ตอนต้น, การหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ การท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) พัฒนาแหล่งเที่ยวแบบ HOMESTAY เพื่อเป็นการกระจายรายได้ และเป็นการใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสมซึ่งจะได้มีการรีบหารือกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อไป
ด้านกีฬาจะมุ่งส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จด้านการกีฬาอาชีพและสมัครเล่นควบคู่ไปกับการขยายการเข้าถึงการออกกำลังกายของประชาชนเพื่อรักษาสุขภาพ จึงได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนด้านการกีฬา ประกอบด้วย การผลักดันให้นักกีฬาประสบความสำเร็จ จะต้องทำให้ “กีฬาคืออาชีพ” นักกีฬาสามารถดำรงชีวิตและสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองได้ โดยผลักดันผ่านสโมสรกีฬาและสมาคมกีฬาต่างๆ, การนำกีฬามาช่วยขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ การสร้างศูนย์กลางกีฬา (SPORT HUB)ในระดับภูมิภาค การกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว (SPORT TOURISM) การสร้าง WORLD CLASS EVENT เช่น กอล์ฟ วิ่งมาราธอน ไตรกีฬา เรือใบ และ E-SPORT (กีฬาอีเล็คทรอนิคส์), การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ ลดความเจ็บป่วยจากโรคที่ไม่ติดต่อ (NCD: NON COMMUNICABLE DISEASES) เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดอุดตัน และโรคไตวาย ซึ่งจะเป็นการลดภาระด้านสาธารณสุขของประเทศ การปลูกฝัง จิตสำนึกในการออกกำลังกาย การสร้างสนามกีฬา ลานกีฬา และพื้นที่สีเขียว เพื่อการออกกำลังกายให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และการส่งเสริมธุรกิจเพื่อการออกกำลังกาย (FITNESS CENTER)
ทั้งนี้ การผลักดันนโยบายท่องเที่ยวและกีฬา จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากข้าราชการ พนักงาน รัฐวิสาหกิจและบุคลากรของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน การคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส่ในการปฏิบัติงาน และการรักษาความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมตลอดจนความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวด้วย