มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 มีพิธีเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ เมื่อค่ำวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่สนามโอลิมปิกสเตเดี้ยม ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างเข้มข้น ไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมพิธีการในสนาม มีเพียงผู้บริหารระดับสูงของคณะกรรมการโอลิมปิคสากล (ไอโอซี) , คณะกรรมการโอลิมปิคและคณะกรรมการจัดการแข่งขันของเจ้าภาพญี่ปุ่น รวมถึงแขกพิเศษจากประเทศต่างๆ ตัวแทนของแต่ละชาติที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน รวมถึงผู้นำประเทศต่างๆเข้าร่วมกว่า 15 ประเทศ และ นายพิพัฒน์ รัชกิจ ประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมพิธีด้วย
พิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ในครั้งนี้เจ้าภาพ ญี่ปุ่นได้วางแนวคิดจัดภายใต้ชื่อ การรวมใจเป็นหนึ่งเดียวของมวลมนุษยชาติ ซึ่งกำลังต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด 19 พิธีเริ่มในเวลา 20.30 น.ท้องถิ่น โดยสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน มีพิธีการกล่าวรายงานการจัดการแข่งขันโดย เซอิโกะ ฮาชิโมโตะ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว2020 และ โธมัส บาค ประธานไอโอซี กล่าวสุนทรพจน์ถึงการจัดการแข่งขันครั้งนี้ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด 19
โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ถือเป็นมหกรรมกีฬาที่ให้ความสำคัญในด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก นอกจากการคัดเลือกตัวแทนแต่ละทวีปมาร่วมถือธงเพื่อใช้ในการกล่าวคำปฏิญาณตน โดย ผู้ทำหน้าที่ถือธงในแต่ละทวีปมีดังนี้ เอเชีย เคนโตะ โมโมตะ นักแบดมินตัน อดีตแชมป์โลก 2 สมัย และมือ 1 ของโลกชาวญี่ปุ่น, แอฟริกาใต้ เมห์ดี เอสซาดิค คุณหมอนักไตรกีฬาชาวโมร็อคโก, อเมริกา พอล่าปาเรโต นักยูโดสาวชาวอาร์เจนติน่า เจ้าของเหรียญทอง โอลิมปิกเกมส์ ที่ ริโอ เดอจาเนโร 2016 และแชมป์โลกเมื่อปี 2015, โอเชียเนีย อีเลน่า กาเลียโบวิทช์ คุณหมอนักแม่นปืนสาวชาวออสเตรเลีย แชมป์โลกยิงปืน ปี 2018, ยุโรป เปาลา โอเกชี อีโกนู นักวอลเลย์บอลชาวอิตาลี เจ้าของเหรียญเงิน เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ 2018 และกลุ่มประเทศผู้ลี้ภัย ไซรีลล์ ฟากัต ชัตเชต ที่ 2 นักยกน้ำหนัก ที่ลี้ภัยมาจากประเทศ แคเมอรูน มาอยู่ที่สหราชอาณาจักร ก่อนจะคว้าแชมป์ยกน้ำหนักของ อังกฤษ ถึง 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2017-19
การเดินขบวนพาเหรดของนักกีฬาจาก 205 ประเทศยึดหลักความเสมอภาคทางเพศ ด้วยการให้นักกีฬาชาย-หญิงเป็นผู้ถือธงชาติของตนเองนำหน้าขบวนพาเหรดเข้าสู่สนามซึ่งทัพนักกีฬาไทยเดินพาเหรดเข้าสู่สนามในลำดับที่ 102 ตามตัวอักษรของญี่ปุ่น โดย‘เอิน’ ณภัสวรรณ หย่างไพบูลย์ นักยิงปืนหญิง และ ‘แซม’ เศวต เศรษฐาภรณ์ นักกีฬายิงปืนเป้าบินชาย เป็นผู้ถือธงชาติไทยเข้าสู่สนาม ขณะที่ทัพนักกีฬาญี่ปุ่น เจ้าภาพเดินพาเหรดปิดท้ายขบวน
ด้านการแสดงต่างๆเจ้าภาพพยายามจัดอย่างเรียบง่าย แต่เต็มไปความหมายที่น่าประทับใจ โดยมุ่งเน้นไปที่การเผชิญกับวิกฤติ โควิด-19 ที่มีผลกระทบทำให้ชาวโลกต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะการณ์ใหม่ ซึ่งบรรดานักกีฬาต้องซ้อม และแข่งขันท่ามกลางสถานการณ์ ด้วยหัวใจที่เด็ดเดี่ยว และมุ่งมั่น การแสดงแสงสี จินตลีลา ประกอบเพลง พร้อมสอดแทรกด้านศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้าไปในชุดการแสดงที่ชื่อ A LASTING LEGACY ซึ่งจะพาย้อนรำลึกถึงการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกปี 1964 ของญี่ปุ่น ด้วยการสร้างวงแหวนโอลิมปิก โดยนำไม้จาก 47 จังหวัดทั่วญี่ปุ่นมาใช้สร้างสัญลักษณ์ของการแข่งขันในพิธีเปิด และปิดการแข่งขัน เพื่อสะท้อนความเป็นชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านป่าไม้ รวมถึงเทคนิคด้านงานไม้ที่มีมาตั้งแต่สมัย เอโดะ รวมทั้งยังมีการจุดพลุไฟ 324 ลูก